แพร่ เป็นจังหวัดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย อดีตนครรัฐอิสระขนาดเล็ก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบระหว่างภูเขา โดยมีทิวเขาล้อมรอบ และมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านคือแม่น้ำยม
- ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกยมหิน (Chukrasia tabularis)
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: ต้นยมหิน (Chukrasia tabularis)
- คำขวัญประจำจังหวัด: หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม
- วิสัยทัศน์จังหวัดแพร่: เมืองแพร่น่าอยู่ ประตูสู่ล้านนา เศรษฐกิจก้าวหน้า ประชาเป็นสุข
เราให้บริการแปลเอกสาร แปลภาษา และรับรองเอกสารในหลากหลายสาขาธุรกิจ เช่น วิศวกรรม กฎหมาย การเงินการธนาคาร แปลเว็บไซต์
แปลใบรับรองการศึกษา แปลวิทยานิพนธ์ แปลใบสูติบัตร แปลใบมรณะ แปลทะเบียนการค้า ธุรกิจการค้า จดหมายโต้ตอบ ฯลฯ
ประวัติศาสตร์
ยุคก่อนการตั้งชุมชน
จากการศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดแพร่ พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด หอกสำริด ที่อำเภอลองและอำเภอวังชิ้น ต่อมา มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ในถ้ำที่บ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ขวานหิน และเครื่องมือหิน จากการตรวจสอบอายุพบว่ามีอายุราว 4,000 ปี
ยุคการก่อตั้งชุมชน
จากการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ การศึกษาจากเอกสารและคำบอกเล่า รวมทั้งจากการสำรวจภาคสนาม พบที่ตั้งชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่ จำนวน 24 แห่ง ชุมชนของคนกลุ่มน้อย จำนวน 4 แห่ง ชุมชนโบราณตั้งอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
– อ.เมืองแพร่ ได้แก่ เมืองแพร่ วังมอญ วังธง เวียงตั้ง
– อ.สอง ได้แก่ เมืองสอง เวียงเทพ ชุมชนใกล้พระธาตุหนองจันทร์
– อ.ร้องกวาง ได้แก่ เวียงสันทราย
– อ.หนองม่วงไข่ ได้แก่ บ้านแม่คำมีท่าล้อ ชุมชนโบราณบ้านปากยาง
– อ.สูงเม่น ได้แก่ บ้านเวียงทอง บ้านพระหลวง บ้านสูงเม่น
– อ.เด่นชัย ได้แก่ บ้านเด่นชัย บ้านบ่อแก้ว
– อ.ลอง ได้แก่ เมืองลอง เวียงต้า เวียงเชียงชื่น เมืองโกณหลวง เมืองลัวะ ชุมชนโบราณบ้านแม่รัง
– อ.วังชิ้น ได้แก่ เมืองตรอกสลอบ บ้านแม่บงเหนือหรือขวานหินมีบ่า หรือที่เรียกว่า เสียมตุ่น หินไม่มีบ่าพบเพียงเล็กน้อย
ชุมชนโบราณที่สำคัญ
– เมืองสองหรือเมืองสรอง ตั้งอยู่บนฝั่งของแม่น้ำสอง หรือแม่น้ำกาหลง มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 3 ชั้น เชื่อกันว่าเป็นเมืองของพระเพื่อน-พระแพงในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ กลางเมืองมีซากเจดีย์เก่าแก่ ชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุหินส้ม ปัจจุบันได้รับการบูรณะและสร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า“ วัดพระธาตุพระลอ”
– ชุมชนเวียงเทพ เป็นชุมชนที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 1 ชั้น
– ชุมชนเวียงสันทราย เป็นชุมชนเดียวที่พบในอ.ร้องกวาง มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบชุมชน
– ชุมชนโบราณบ้านแม่คำมี ลักษณะของชุมชนคือสร้างสองฝั่งลำน้ำแม่คำมี มีลักษณะแตกต่างจากชุมชนโบราณแห่งอื่นที่สร้างติดลำน้ำด้านเดียว มีแนวคันดินด้านทิศตะวันออกเหลืออยู่ 3 ชั้น
– บ้านพระหลวงธาตุเนิ้ง ชุมชนนี้ไม่ปรากฏคูน้ำและคันดินล้อมรอบแต่มีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระธาตุเนิ้ง (เจดีย์นี้มีลักษณะเอียงซึ่งอาจเกิดจากแผ่นดินไหว) ได้รับการบูรณะซ่อมแซมและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
– เวียงต้า ที่ตั้งชุมชนเป็นที่ราบลูกคลื่นใกล้ภูเขามีแนวคันดิน 3 ชั้น นอกกำแพงวัดมีวัดเก่าแก่ คือ วัดต้าม่อน มีภาพเขียนฝาผนังเขียนเล่าชาดกเรื่อง “ ก่ำก๋าดำ” ปัจจุบันภาพจิตรกรรมนี้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
– เมืองลอง ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของอาณาจักรรับภาวะศึกสงครามกับอาณาจักรอยุธยา เมืองโบราณแห่งนี้มีชื่อเรียกอื่นๆอีก ได้แก่ “เมืองเววาทภาษิต” “เมืองกกุฎไก่เอิ้ก” และ “เวียงเชียงชื่น” เมืองลองมีแนวคันดินเป็นกำแพงล้อมรอบแต่ปัจจุบันถูกขุดทำลายเพื่อใช้พื้นที่ทำนา ในอดีตเมืองลองขึ้นกับนครลำปาง และได้รับการโอนมาเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2474
– ชุมชนโบราณบ้านแม่บงเหนือ ในอดีตชุมชนนี้เป็นเมืองของพวกลั๊วะก่อนการตั้งอาณาจักรล้านนา
– เมืองตรอกสลอบ บ้านนาเวียง อ.วังชิ้น มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ปัจจุบันวัดที่ตั้งในเขตเมืองได้รับการบูรณะและให้ชื่อว่า “วัดบางสนุก”
กำเนิดเมืองแพร่
เมืองแพร่ เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย ประวัติการสร้างเมือง ไม่มีจารึกในที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ การศึกษาเรื่องราวของเมืองแพร่จึงต้องอาศัยหลักฐานของเมืองอื่น เช่น พงศาวดารโยนก ตำนานเมืองเหนือ ตำนานพระธาตุลำปางหลวง และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นต้น
– ตำนานวัดหลวง กล่าวไว้ว่าประมาณ พ.ศ. 1371 พญาพล ราชนัดดาแห่งกษัตริย์น่านเจ้าได้อพยพคนไทย(ไทยลื้อ ไทยเขิน)ส่วนหนึ่งจากเมืองเชียงแสน ไชยบุรี และเวียงพางคำ ลงมาสร้างเมืองบนที่ราบริมฝังแม่น้ำยมขนานนามว่า “เมืองพลนคร”
– ตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่าเมืองแพร่เป็นเมือง ที่ปกครองโดยพญายี่บาแห่งแคว้นหริภุญไชย สันนิษฐานว่าเมืองแพร่และมืองลำพูนเป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน หลักฐานหนึ่งในประเด็นนี้ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือสัณฐานเค้าโครงของเมืองโบราณทั้งสองที่มีรูปร่างคล้ายหอยสังข์เหมือนกัน
– หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ 1 ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 24 – 25 ซึ่งจารึกไว้ว่า . “..เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพล เมืองน่าน เมือง…เมืองพลัวพ้นฝั่งของ เมืองชวา เป็นที่แล้ว…” ในข้อความนี้ เมืองแพล คือ เมืองแพร่ ศิลาจารึกนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1826 จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความเก่าแก่ของเมืองแพร่ ว่าตั้งขึ้นมาก่อนเมืองเชียงใหม่ และเชื่อว่าเมืองแพร่ ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วก่อนการตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
– ตำนานพระธาตุลำปางหลวง กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคนมาติดต่อเจ้านครพล ให้ไปร่วมงานนมัสการ และฉลองวัดพระธาตุลำปางหลวง และเจ้าเมืองพลยกกำลังผู้คนไปขุดหาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระธาตุ แต่ไม่พบ เมื่อศึกษาตำแหน่งที่ตั้งของนครพลตามตำนานดังกล่าวสัณนิษฐานว่าคือเมืองแพร่ นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นชื่อวิหารในวัดหลวง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ โดยเชื่อว่าวัดนี้เป็นวัดที่สร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่และเจ้าเมืองแพร่ให้ความอุปถัมภ์มาตลอดจนหมดยุคการปกครองโดยเจ้าเมือง
– พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนและวรรณกรรมทางศาสนา เรียกเมืองแพร่ว่าเวียงโกศัย ชื่อเวียงโกศัยน่าจะมาจากชื่อดอยที่เป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองแพร่คือ ดอยโกสิยธชัคบรรพต หมายถึง ดอยแห่งผ้าแพร ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเมืองแพลในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ 1 ด้านที่ 4 โดยคำว่า แพล น่าจะมาจากศรัทธาของ ชาวเมืองที่มีต่อพระธาตุช่อแพร หรือช่อแฮที่สร้างขึ้น ภายหลังการสร้างเมืองต่อมาจึงได้เรียกชื่อ เมืองของตนว่า เมืองแพล
จนถึงปี พ.ศ. 2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนการปกครองจากเจ้าผู้ครองนครเป็นมณฑลเทศาภิบาล และโปรดเกล้าให้พระยาไชยบูรณ์มาเป็นข้าหลวงเมืองแพร่คนแรก โดยมีเจ้าผู้ครองนครแพร่ คือ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ต่อมาเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวในปี พ.ศ. 2445 จึงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพพร้อมหัวเมืองใกล้เคียงเข้าปราบกบฏเงี้ยวที่เมืองแพร่ พระยาไชยบูรณ์ถูกพวกเงี้ยวสังหาร ส่วนเจ้าพิริยเทพวงษ์เกรงพระราชอาญา จึงเสด็จหลี้ภัยการเมืองไปพำนักที่เมืองหลวงพระบาง หลังจากนั้นรัฐบาลสยามจึงยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่
คนแพร่มักถูกทักทายเชิงล้อเลียนอยู่เสมอว่า เมืองแพร่แห่ระเบิด จึงมีผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร หมายความว่าอย่างใด โดยศึกษาอ้างอิงกับเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากคุณสุรินทร์ โสภารัตนานันท์ อดีตเสรีไทย รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกหลายคน ได้ความว่า
นายหลง มโนมูล ซึ่งเป็นคนงานรถไฟสถานีแก่งหลวง ได้ไปพบซากระเบิด ที่ทิ้งมาจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำระเบิดมาทิ้งเพื่อทำลายสะพานรถไฟข้ามห้วยแม่ต้า เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่น เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณปี พ.ศ. 2485 – 2488) จึงได้มาบอกนายสมาน หมื่นขัน ทราบ นายสมานฯ จึงไปดูและขอความช่วยเหลือจากคนงานรถไฟ ที่สถานีรถไฟแก่งหลวงที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ นายชุ่ม ขันแก้ว นายชัยวัฒน์ พึ่งพอง นายพินิจ สุทธิสุข นายย้าย ปัญญาทอง ให้มาช่วยกันขุด และทำการถอดชนวนแล้วใช้เลื่อยตัดเหล็กตัดส่วนหางของลูกระเบิดควักเอาดินระเบิดที่บรรจุอยู่ภายในออก และช่วยกันหามขึ้นล้อ(เกวียน) นำไปพักไว้ที่บ้านแม่ลู่ตำบลบ้านปิน ต่อมานายหลงฯ ได้ไปลากต่อมาจากบ้านแม่ลู่โดยล้อ (เกวียน) ชาวบ้านทราบข่าว จึงแตกตื่นพากันออกมาดูทั้งหมู่บ้าน เดินตามกันเป็นขบวนยาว ติดตามมาตลอดทางจนถึงวัดแม่ลานเหนือ ตำบลห้วยอ้อ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงรอบ ๆ วัด พอทราบข่าวก็ออกมาต้อนรับพร้อมวงฆ้อง – กลองยาว ขบวนที่แห่กันมาจึงเคลื่อนขบวนเข้าวัดทำพิธีถวายให้เป็นสมบัติของวัด เพื่อใช้เป็นระฆังของวัดจนถึงปัจจุบันนี้ ระเบิดลูกที่ 2 นำไปถวายที่วัดศรีดอนคำ ตำบลห้วยอ้อ ส่วนลูกระเบิดลูกที่ 3 นายบุญมา อินปันดีใช้ช้างลากขึ้นมาจากห้วยแม่ต้า แล้วนำมาบรรทุกล้อ (เกวียน) ลากไปถวายที่วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง ซึ่งเป็นบ้านเดิมของนางจันทร์ ผู้เป็นภรรยา ปัจจุบันลูกระเบิดที่ 1 เก็บไว้ที่วัดแม่ลานเหนือ ตำบลห้วยอ้อ ลูกที่ 2 เก็บไว้ที่วัดศรีดอนคำ ตำบลห้วยอ้อ ลูกที่ 3 เก็บไว้ที่วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง จังหวัดแพร่
การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 78 ตำบล 645 หมู่บ้าน
เมืองแพร่
ร้องกวาง
ลอง
สูงเม่น
เด่นชัย
สอง
วังชิ้น
หนองม่วงไข่